วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประวัติ และภูมิศาสตร์ เมืองตราด

ประวัติ และภูมิศาสตร์ เมืองตราด


คำขวัญ จังหวัดตราด
เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา

ที่มาแห่งความหมาย
เมืองเกาะครึ่งร้อย : จังหวัดตราด ประกอบไปด้วยหมู่เกาะช้าง มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 650 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยเกาะต่าง ๆ ที่มากถึง 52 เกาะ เรียงรายตั้งแต่เขตอำเภอแหลมงอบ อำเภอเมือง และอำเภอคลองใหญ่ เกาะที่สำคัญที่สุด คือ เกาะช้าง นอกจากนี้ยังมีเกาะอื่น ๆ ที่ยังคงสภาพความสวยงามตามธรรมชาติได้แก่ เกาะกูด เกาะหมาก เกาะคลุ้ม เกาะเหลายาใน เกาะง่าม เกาะไม้ซี้ใหญ่ เกาะหวาย เกาะรัง ฯลฯ

พลอยแดงค่าล้ำ : พลอยแดง จังหวัดตราด เป็นแหล่งของพลอยแดงน้ำงามที่มีชื่อเสียงโด่งดังในนาม "ทับทิมสยาม" แต่ปัจจุบันแร่พลอยเริ่มหมดไป ทับทิมสยามจึงกลายเป็นสิ่งที่หายาก ปัจจุบันยังพอหาซื้อได้จาก ร้านจำหน่ายเพชรพลอยในตัวเมืองตราด
ระกำแสนหวาน : สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน มีลักษณะพิเศษ คือ มีอาน หรือขวัญบนแผ่นหลัง มีความฉลาด และซื่อสัตย์ คอกสุนัขหลังอานบริเวณ บริษัท โคคาโคล่า
หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา : อนุสรณ์สถานยุทธนาวีเกาะช้าง จัดสร้างขึ้นบริเวณชายทะเลแหลมงอบ มีอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผันพระพักตร์ไปยังยุทธนาวีเกาะช้างมีการจัดบริเวณและอาคารพิพิธภัณฑ์คล้ายเรือรบ ด้านในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงประวัติศาสตร์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประวัติการสู้รบของกองทัพเรือไทยกับกองกำลังเรือรบของฝรั่งเศส รอบ ๆ บริเวณอนุสรณ์สถานได้จัดเป็น สวนสำหรับพักผ่อน และจะมีงานฉลอง เพื่อระลึกถึงการทำยุทธนาวีของกองทัพเรือไทย ระหว่างวันที่ 17-21 มกราคมของทุกปี

เมืองตราดสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “กราด” ที่เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้ทำไม้กวาด ต้นไม้ชนิดนี้มีขึ้นอยู่รอบเมืองตราด ซึ่งในสมัยนั้นมีต้นกราดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พอถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองตราดมีชื่อในขณะนั้นว่า “บ้านบางพระ” จังหวัดตราด หรือเมืองทุ่งใหญ่ปรากฏชื่อในทำเนียบหัวเมืองสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2178) ว่าเป็นหัวเมืองชายทะเล สังกัดฝ่ายการต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการคลัง ตราดเป็นหนึ่งในเมืองท่าชายทะเล ที่มีชัยภูมิเหมาะกับการแวะจอดเรือเพื่อขนถ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เติมเสบียงอาหาร น้ำจืดบริเวณอ่าวเมืองตราด จึงเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขาย
ตราดนับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายอยุธยา สินค้าที่ส่งออกขายยังแดนไกล โดยเฉพาะของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ ไม้หอม และเครื่องเทศต่าง ๆ ล้วนมาจากเขตป่าเขาชายฝั่งทะเลตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด โดยลำเลียงสินค้าผ่านมาตามแม่น้ำเขาสมิง ออกสู่ปากอ่าวตราด
เมื่อครั้งสงครามกู้เอกราชสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกตราดเป็นเมืองหน้าด่านกันชน ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารก่อนเคลื่อนกองทัพเรือออกจากจันทบุรี
ในสมัยรัชการที่ 1 เมืองตราดยังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันท์ซึ่งต่อมาหันไปสวามิภักดิ์กับญวน ไทยกับญวนผิดใจกันจนต้องทำสงครามกันในปี พ.ศ. 2371 ตราดเป็นแหล่งกำลังพล และเสบียงอาหารมีการตั้งป้อมค่ายอยู่ที่บ้านแหลมหิน ปากอ่าวเมืองตราด
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเรือเข้ายึดจันทบุรี ปี ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) และคืนให้ไทยในปี พ.ศ. 2447 โดยแลกกับเมืองตราดตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ต่อมารัฐบาลไทยเห็นว่าตราดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทย ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสจึงยินยอมทำสัญญายกเมืองตราดกับเมืองด่านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (เมื่อหันหน้าไปทางปากแม่น้ำ) คืนให้กับไทยโดยแลกเปลี่ยนกับพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 โดยฝ่ายไทยมีพระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระยาศรีเทพตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทย ฝ่ายฝรั่งเศสมีเมอซิเออร์รูซโซเรซิดังเป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้กระทำพิธีส่ง และรับมอบกัน ณ ศาลากลางจังหวัด และฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450
ในช่วงสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483-2484) ฝรั่งเศสพยายามเข้ายึดเมืองตราดอีกเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 กองทัพเรือไทยได้เข้าต่อสู้ขัดขวางกองทัพเรือฝรั่งเศสที่ล่วงล้ำน่านน้ำไทยอย่างกล้าหาญ รักษาเมืองยุทธศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้
ปี พ.ศ. 2521 เกิดสงครามสู้รบในกัมพูชา ชาวเขมรนับแสนหนีตายทะลักเข้ามาในเขตไทยทางเทือกเขาบรรทัด เขตพรมแดนด้านตะวันออก เส้นทางหลวงหมายเลข 318 จากตัวเมืองตราดเลียบขนานเทือกเขาบรรทัด และชายฝั่งทะเลสู่อำเภอคลองใหญ่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายสำคัญ เมื่อสงครามสงบลงในปี พ.ศ. 2529 เส้นทางสายนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้าระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณตลาดหาดเล็ก สุดเขตชายแดนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางต่อไปยังเกาะกง
การขุดพบ “พลอยแดง” หรือ “ทับทิมสยาม” ในเขตอำเภอบ่อไร่เมื่อปี พ.ศ. 2514 ก่อกระแสการตื่นพลอย ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาแสวงโชคที่นี่ความเจริญทุกด้านมุ่งสู่บ่อไร่จนกลายเป็นเมืองใหญ่คู่กับตัวเมืองตราด พื้นที่ที่เคยเป็นป่าทึบกลายเป็นหลุมบ่อ เมื่อทรัพย์สินในดินเริ่มหมดไป ในปี พ.ศ. 2534 บ่อไร่กลายเป็นเมืองร้าง เหลือไว้เพียงอาคารร้านค้าซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ


สัญลักษณ์ประจำจังหวัดตราด
ธงช้าง
ธงช้าง
ธงช้าง ธงชาติไทยในสมัย ร.๔-ร.๕ โปรดเกล้าให้เอาจักรออกคงเหลือแต่ รูปช้างเผือกและใช้ต่อมาตลอดสมัย ร.๕ เป็นธงชาติไทยผืนแรกเรียกว่า "ธงช้าง


ตราประจำจังหวัดตราด
ตราประจำจังหวัดตราด
รูปเรือใบแล่นในทะเลกับโป๊ะของชาวประมง เบื้องหลังเป็นเกาะ หมายถึง จังหวัดตราดมีเกาะเป็นจำนวนมาก และเกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปคือเกาะช้างการที่มีพื้นที่ติดกับทะเลราษฎรจึงยึดถือการประมงเป็นอาชีพหลัก มาแต่โบราณ


ธงประจำจังหวัดตราด
ธงประจำจังหวัดตราด
ลักษณะพื้นสีแดงและสีน้ำเงินตรงกลางมีตราประจำจังหวัด


ต้นไม้ดอกประจำจังหวัดตราด ไม้กฤษณา
ต้นไม้ดอกประจำจังหวัดตราด ไม้กฤษณา
หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้หอม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Agilaria Malaccansis Link พบในป่าดงดิบของจังหวัดตราด เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ เนื้อไม้มีสีขาว ต้นไม้ชนิดนี้หากมีบาดแผลซึ่งอาจเกิดจากการตัด แมงเจาะใช หรือเป็นโรคจะขับสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในลำต้นออกมาทำหน้าที่ ต้านความผิดปกติเหล่านั้น ทำให้บริเวณที่เกิดแผลดังกล่าวเปลี่ยน เป็นสีดำและก่อตัวเป็นผลึก ทำให้เกิดความแข็งแกร่งของเนื้อไม้ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "กฤษณา" มีกลิ่นหอม ความผิดปกติ จะขยายไปเรื่อยๆ ทำให้สีดำมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแก่นกฤษณา ที่มีสีดำนั้น ถือว่าเป็นไม้คุณภาพชั้นหนึ่ง มีราคาสูงมาก หากมีสีน้ำตาลเทา คุณภาพจะรองลงมา ถ้ามีสีเหลืองปนดำ ถือว่าเป็นคุณภาพต่ำ ซึ่งไม้กฤษณาเป็นสินค้าที่นำมาทำ หัวน้ำหอม ตลอดจนเครื่องหอม หลายชนิด นับวันจะหายากขึ้น เพราะกฤษณาไม้ได้เกิดกับไม้หอมทุกชนิด ปัจจุบันตราดมีหลายพื้นที่ที่เกษตรกรนำมาปลูกเป็นการทดแทนผลไม้ ที่มีราคาถูกลง และอีกประการหนึ่งตลาดยังมีความต้องการมากเนื่องจาก เป็นเครื่องหอมทีประกอบผลิตภัณฑ์ให้กับพี่น้องชาวมุสลิมอีกด้วย


ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดตราด เป็นจังหวัดชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีทิวเขาบรรทัดยาว156 กิโลเมตรเป็นพรมแดนด้านตะวันออก ด้านตะวันตกมีชายฝั่งทะเลยาว 156.5 กิโลเมตร มีเกาะ 52 เกาะ เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด (มีเนื้อที่ 650 ตารางกิโลเมตร) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีความยาวมากกว่าความกว้าง ตอนบนและตอนกลางมีความยาวใกล้เคียงกัน
ตอนใต้มีลักษณะเรียวทอดยาวลงไป จังหวัดตราดมีสัณฐานคล้ายหัวช้าง ส่วนกว้างที่สุดของจังหวัด จากตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง ถึงแนวเทือกเขาบรรทัด ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราดเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตรส่วนที่ยาวที่สุดจากทิศเหนือของตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ ถึงตอนใต้สุดของตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ เป็นระยะทางประมาณ125 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดวัดจากบ้านโขดทราย ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จากฝั่งทะเลตะวันตกถึงแนวเทือกเขาบรรทัดมีระยะเพียง 500 เมตร
จังหวัดตราดมีภูมิประเทศคล้ายคลึงกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น จันทบุรี ระยอง ชลบุรี เป็นต้น พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นหรือลูกฟูก และเนินเขาเตี้ยๆ ทางตอนบนของจังหวัดเป็นภูเขาและที่สูง ในตอนกลางมีที่ราบแคบ ทางตอนบนบางแห่งและชายฝั่งทะเลตอนใต้ช่วง เทือกเขาบรรทัดติดกับจังหวัดจันทบุรี เป็นเทือกเขาหินแกรนิตมีความแข็งแกร่ง


ที่ตั้ง
จังหวัดตราด เป็นจังหวัดสุดท้ายที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด(เส้นรุ้ง)ที่ 11 องศา 34 ลิบดา กับละติจูดที่ 12 องศา 45 ลิบดาเหนือ และเส้นลองติจูด(เส้นแวง)ที่ 102 องศา 15 ลิบดา ถึง 102 องศา 55 ลิบดาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมด 2,819 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,761,875 ไร่ คิดเป็นเนื้อที่ประมาณร้อยละ 0.42 ของพื้นที่ประเทศ และร้อยละ 7.72 ของภาคตะวันออก มีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 56 ของประเทศ ตัวจังหวัดตราดอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท)เป็นระยะทางประมาณ 385 กิโลเมตร หรือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 (สายบางนา-ชลบุรี-บ้านบึง-แกลง-จันทบุรี-ตราด) เป็นระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร


อาณาเขตติดต่อ
จังหวัดตราดตั้งอยู่ภาคตะวันออกของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพฯ 315 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 2,819 ตร.กม. หรือประมาณ 1,761,875 ไร่ และเป็นพื้นที่ตามเขตปกครองทางทะเล ประมาณ 7,257 ตร.กม. มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และประเทศกัมพูชา
ทิศใต้ ติดต่อกับ อ่าวไทยและน่านน้ำทะเลประเทศกัมพูชา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ประเทศกัมพูชา มีทิวเขาบรรทัดเป็นแนวกั้นเขตแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

สภาพภูมิอากาศ
จากการที่หมู่เกาะช้างเป็นเกาะซึ่งมีทะเลล้อมรอบทำให้อุณหภูมิบริเวณเกาะช้างเหมาะแก่การพักผ่อน คือ ไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป สำหรับอิทธิพลจากมรสุมนั้น เกาะช้างได้รับอิทธิพลทั้งจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากอิทธิพลดังกล่าวทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางด้วยเรือบริเวณเกาะช้างคือ ในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ชายฝั่งด้านตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมจะเป็นคลื่นลมแรง ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือได้ หลังเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่มีคลื่นน้อยที่สุด ฉะนั้นการเดินทางไปเกาะช้าง หรือหมู่เกาะต่างๆ ค่อนข้างจะสะดวก พื้นที่บางส่วนของจังหวัดเป็นเกาะอยู่ในทะเลอ่าวไทยโดยส่วนมาก ทำให้ตราดมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวทางทะเลอยู่มากโดยมีเกาะถึง 52 เกาะ
สภาพภูมิอากาศ จังหวัดตราดมีอากาศไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป แต่มีฝนตกชุกมาก เพราะมีพื้นที่ติดทะเลและภูเขาโอบล้อม จึงทำให้รับอิทธิพลของลมมรสุม แบ่งออกเป็น 3 ฤดู
ฤดูหนาว เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. อากาศไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน เป็นช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. อุณหภูมิโดยเฉลี่ยไม่เกิน 34 องศาเซลเซียส
ฤดูฝน เกิดจากอิทธิพลลมมรสุมตัวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทะเลอ่าวไทย ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค ของทุกปี ทำให้มีฝนตกชุกในเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณน้ำฝน 4,000 มม.ต่อปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น